วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2552

แผนการสอน วิชา พลังงานและสิ่งแวดล้อม

หน่วยการเรียนรู้ที่ 2
ชีวิตและสิ่งแวดล้อม แผนการจัดการเรียนรู้ที่ 5
ตอนที่ 2 ประชากรและทรัพยากรธรรมชาติ
เวลา 7 ชั่วโมง

สาระสำคัญ
ดิน น้ำ อากาศ สัตว์ป่า ป่าไม้ และพลังงาน เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญและจำเป็น
ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ปัจจุบันการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรอย่างรวดเร็วทำให้มนุษย์มีความจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น มนุษย์จึงนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาพัฒนาการใช้สิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ปริมาณของทรัพยากรธรรมชาติลดลง นอกจากนี้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่เห็นคุณค่า ย่อมก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมจนทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมสภาพลง รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ด้วย ดังนั้นเราจึงต้องทำการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วยการให้ความรู้และสร้างความตระหนักให้ทุกคนเห็นคุณค่าของการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สิ่งเหล่านี้ดำรงสภาพและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนตลอดไป
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
1. สำรวจ ทดลอง และอธิบายการเปลี่ยนแปลงขนาดของประชากร
2. สำรวจวิเคราะห์และอธิบายเกี่ยวกับสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น
3. เสนอแนวคิดในการดูแลรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
4. อาสาสมัครเป็นกลุ่มร่วมป้องกันและเฝ้าระวังทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น
เนื้อหาสาระ
- ประชากรมนุษย์
- การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
- การพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
- การพัฒนาที่ยั่งยืน
กระบวนการจัดการเรียนรู้
ครูตรวจสอบความรู้พื้นฐานเดิมของนักเรียน โดยให้ทำแบบทดสอบก่อนเรียน แล้วแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้ให้นักเรียนทราบ ก่อนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

การจัดการเรียนรู้ครั้งที่ 13 ประชากรมนุษย์และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงประชากรมนุษย์ต่อ ทรัพยากรธรรมชาติ เวลา 2 ชั่วโมง
จุดประสงค์การเรียนรู้
1. อธิบายการเปลี่ยนแปลงขนาดของประชากรได้
2. อธิบายผลกระทบของการเพิ่มประชากรต่อทรัพยากรธรรมชาติได้
3. อธิบายเกี่ยวกับสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นได้
ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน
ครูสนทนากับผู้เรียนเกี่ยวกับจำนวนประชากรของเมืองไทย อาจจะเน้นไปที่การกระจายตัวของ
ประชากร และความหนาแน่นของประชากร โดยเปรียบเทียบระหว่างชุมชนเมืองและชนบท เพื่อ
เชื่อมโยงไปสู่การจัดการเรียนรู้ เรื่อง ประชากรมนุษย์และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงประชากร
มนุษย์ต่อทรัพยากรธรรมชาติ
ขั้นสอน
จัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้
1. ขั้นสร้างความสนใจ
1) ครูสนทนากับนักเรียนเกี่ยวกับความหมายของประชากร โดยตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่ประเด็นการอภิปราย ดังนี้
– นักเรียนคิดว่าประชากรหมายถึงอะไร
– คำว่าประชากรสามารถใช้ได้กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น เช่น แมลงปอ นกปากห่าง
ต้นข้าวโพดหรือผักตบชวาได้หรือไม่ อย่างไร
– การบอกจำนวนประชากรจะต้องระบุอะไรบ้าง
2) ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนตอบคำถามและแสดงความคิดเห็น
2. ขั้นสำรวจและค้นหา
1) แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 3-5 คน ศึกษาใบงานที่ 15 หรือกิจกรรมที่ 15 เรื่อง ผลกระทบของการเพิ่มประชากรต่อทรัพยากรธรรมชาติ ในหนังสือเรียน
2) ครูซักถามขั้นตอนในการปฏิบัติกิจกรรม และอธิบายสิ่งที่นักเรียนยังไม่เข้าใจ
3) นักเรียนแต่ละกลุ่มศึกษาสถิติประชากรของประเทศไทยระหว่าง พ.ศ. 2454-2547 ตามประเด็นการศึกษาในกิจกรรมที่ 15 แล้วร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจาก
การเพิ่มประชากรต่อทรัพยากรธรรมชาติ และผลกระทบด้านอื่น ๆ ตลอดจนร่วมกันหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการเพิ่มประชากร
3. ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป
1) นักเรียนแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนมาอภิปรายผลการปฏิบัติกิจกรรมหน้าชั้นเรียน
2) ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปผลการปฏิบัติกิจกรรม ซึ่งอาจจะได้ข้อสรุป ดังนี้
– การเพิ่มประชากรไทยในระหว่างปี พ.ศ. 2545-2547 แต่ละช่วงมีลักษณะ
การเพิ่มที่แตกต่างกัน คือ ในช่วงแรก (ปี พ.ศ. 2454-2490) จะมีการเพิ่มประชากรอย่างช้า ๆ เนื่องจากมีอัตราการตายสูง เพราะการแพทย์และการสาธารณสุขยังไม่เจริญ แต่ช่วงปี พ.ศ. 2491-2513 ประชากรจะเพิ่มอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์และการสาธารณสุขมากขึ้น ทำให้อัตราการตายน้อยลงและอัตราการเกิดสูง เพราะรัฐบาลส่งเสริมให้มีบุตรเพิ่มมากขึ้น ส่วนช่วงปี พ.ศ. 2514-2547 นั้น รัฐบาลนำนโยบายการส่งเสริมการวางแผนครอบครัวมาใช้ ทำให้อัตราการเพิ่มของประชากรเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ
– การเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็วมีผลทำให้เกิดปัญหาด้านต่าง ๆ ตามมา ดังนี้
(1) ปัญหาการบริโภค
(2) ปัญหาการประกอบอาชีพ
(3) ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ
– แนวทางในการป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการเพิ่มประชากร มีดังนี้
(1) ส่งเสริมการวางแผนครอบครัว
(2) รักษาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
(3) รู้จักใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า จัดการอย่างถูกวิธี
(4) ให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์
3) ครูอธิบายเนื้อหาในหนังสือเรียนเพิ่มเติม แล้วให้นักเรียนตอบคำถามท้ายกิจกรรม
4. ขั้นขยายความรู้
ครูให้นักเรียนได้ดูวีดิทัศน์เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากการเพิ่มประชากร
5. ขั้นประเมิน
1) ครูให้นักเรียนแต่ละคนพิจารณาว่า จากหัวข้อที่เรียนมาและการปฏิบัติกิจกรรม มีจุดใด
บ้างที่ยังไม่เข้าใจหรือยังมีข้อสงสัย ถ้ามีครูช่วยอธิบายเพิ่มเติมให้นักเรียนเข้าใจ
2) นักเรียนร่วมกันประเมินการปฏิบัติกิจกรรมกลุ่มว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคใด และได้มีการ
แก้ไขอย่างไรบ้าง
3) ครูและนักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับจากการปฏิบัติกิจกรรม และการนำความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์
4) ครูทดสอบความเข้าใจของนักเรียนโดยการให้ตอบคำถาม เช่น
– ประชากรไทยระหว่างช่วง พ.ศ. 2491-2513 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากสาเหตุใด
– รัฐบาลใช้นโยบายอะไรในการลดอัตราการเพิ่มของประชากร
– การเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็วทำให้เกิดปัญหาใดตามมาบ้าง
ขั้นสรุป
ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปสาระสำคัญ เรื่อง ประชากรมนุษย์และผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงประชากรมนุษย์ต่อทรัพยากรธรรมชาติ จากการปฏิบัติกิจกรรมและที่ได้เรียนรู้


การจัดการเรียนรู้ครั้งที่ 14 การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เวลา 3 ชั่วโมง
จุดประสงค์การเรียนรู้
1. อธิบายเกี่ยวกับสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นได้
2. เข้าใจหลักการและแนวคิดในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
3. บอกแนวทางในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4. เสนอแนะแนวทางการร่วมมือกับชุมชนในการวางแผนแก้ปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศที่นักเรียนอาศัยอยู่ได้
ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน
1. ครูสนทนากับนักเรียนเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทั่วไปในท้องถิ่นที่นักเรียนอาศัยอยู่ จากนั้น
ตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่ประเด็นอภิปราย ดังนี้
– ในชุมชนที่นักเรียนอาศัยอยู่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมอะไรบ้าง
– นักเรียนคิดว่าจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นได้อย่างไร
2. ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนตอบคำถามและแสดงความคิดเห็น เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การจัดการ
เรียนรู้ เรื่อง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ขั้นสอน
จัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้
1. ขั้นสร้างความสนใจ
ครูแนะนำนักเรียนว่าต่อไปจะได้ปฏิบัติกิจกรรม โดยจะให้นักเรียนสมมติบทบาทตัวเองว่าเป็น
พัฒนากรหรือนักพัฒนาชุมชน แล้วลองวางแผนกันว่าจะแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนอย่างไร
2. ขั้นสำรวจและค้นหา
1) แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 4-5 คน ศึกษาใบงานที่ 16 หรือกิจกรรมที่ 16 เรื่อง พัฒนากร–พัฒนาการ ในหนังสือเรียน
3) นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในระบบนิเวศของชุมชนที่
นักเรียนอาศัยอยู่ แล้วเลือกมาศึกษา 1 ปัญหา โดยไม่ให้ซ้ำกับกลุ่มอื่น แล้วให้นักเรียนศึกษาตัวอย่าง
โครงการในหนังสือเรียน
4) นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันวางแผนการดำเนินงานตามขั้นตอนในหนังสือเรียน จากนั้นนำมาปรึกษาครู โดยครูจะต้องพิจารณาความเหมาะสมและต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการปฏิบัติกิจกรรมของนักเรียนด้วย แล้วจึงให้นักเรียนแต่ละกลุ่มปฏิบัติกิจกรรมตามขั้นตอนที่วางแผนไว้
3. ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป
1) นักเรียนแต่ละกลุ่มนำผลที่ได้จากการแก้ปัญหามารายงานหน้าชั้นเรียน จากนั้นครูและ
นักเรียนร่วมกันสรุปผลจากการปฏิบัติกิจกรรม
2) ครูถามคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปราย ดังนี้
– จากการสำรวจสภาพปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่นักเรียนอาศัยอยู่ มีลักษณะเป็นอย่างไร
– กิจกรรมใดบ้างของประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชน ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และปัญหาสิ่งแวดล้อม
– นักเรียนแก้ไขปัญหาอย่างไร และสามารถแก้ไขปัญหานั้นได้หรือไม่
– นักเรียนคิดว่าใครบ้างที่ควรจะร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้
3) ครูและนักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็นและสรุปผลการอภิปราย ซึ่งอาจจะได้ข้อสรุป ดังนี้
– ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการกระทำของ
มนุษย์ ทั้งนี้เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความต้องการปัจจัยต่าง ๆ เพื่อ
การดำรงชีพ จึงมีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด อีกทั้งการใช้ทรัพยากรอย่างไม่ระมัด-
ระวัง มีการปล่อยของเสียที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ไปสู่สิ่งแวดล้อม จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหา
สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ตามมา ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน เช่น การเน่าเสียของแหล่งน้ำ มลพิษทางอากาศ และ
สารเคมีปนเปื้อนในดิน เป็นต้น ในการป้องกันและแก้ปัญหานั้น ทุกคนในชุมชนจะต้องร่วมมือร่วมใจกัน
และต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
4) ครูอธิบายเนื้อหา เรื่อง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในหนังสือเรียน
และให้นักเรียนตอบคำถามท้ายกิจกรรม
4. ขั้นขยายความรู้
ครูมอบหมายงานให้นักเรียนไปค้นคว้า เรื่อง ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ระดับประเทศ พร้อมทั้งสืบค้นว่าปัญหาเหล่านั้นมีวิธีการแก้ไขอย่างไร และผลเป็นอย่างไรบ้าง โดยค้นคว้าจากเว็บไซต์ของหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเอกชนต่าง ๆ เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพ สิ่งแวดล้อม และมูลนิธิพลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งรายงานการปฏิบัติการของหน่วยงานต่าง ๆ หรืองานวิจัยของนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น จากนั้นจัดทำเป็นรายงานส่ง
นอกจากนี้ครูอาจจะให้นักเรียนเผยแพร่ผลการปฏิบัติการโครงงาน โดยการจัดป้ายนิเทศหรือ
นิทรรศการ เป็นต้น
5. ขั้นประเมิน
1) ครูให้นักเรียนแต่ละคนพิจารณาว่า จากหัวข้อที่เรียนมาและการปฏิบัติกิจกรรม มีจุดใด
บ้างที่ยังไม่เข้าใจหรือยังมีข้อสงสัย ถ้ามีครูช่วยอธิบายเพิ่มเติมให้นักเรียนเข้าใจ
2) นักเรียนร่วมกันประเมินการปฏิบัติกิจกรรมกลุ่มว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคใด และได้มีการ
แก้ไขอย่างไรบ้าง
3) ครูและนักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับจากการปฏิบัติกิจกรรม
4) ครูทดสอบความเข้าใจของนักเรียนโดยการให้ตอบคำถาม เช่น
– ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรดินมีอะไรบ้าง
– สาเหตุของมลพิษทางอากาศเกิดจากกิจกรรมใดบ้าง
– นักเรียนอธิบายกลยุทธ์ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่ อย่างไร
ขั้นสรุป
ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปสาระสำคัญ เรื่อง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการปฏิบัติกิจกรรมและที่ได้เรียนรู้


การจัดการเรียนรู้ครั้งที่ 15 การพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เวลา 2 ชั่วโมง
จุดประสงค์การเรียนรู้
1. อธิบายความหมายของการพัฒนา การพัฒนาที่ยั่งยืน และการอนุรักษ์ได้
2. เสนอแนวคิดในการดูแลรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนได้
3. จัดทำโครงการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี และร่วมมือกับชุมชนในการปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้
ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน
1. ครูทบทวน เรื่อง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการปฏิบัติกิจกรรม
พัฒนากร–พัฒนาการ ที่นักเรียนได้ปฏิบัติไปแล้ว แล้วตั้งประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่ประเด็นการอภิปราย ดังนี้
– การพัฒนาลักษณะใดที่เรียกว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน
– การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติตามความคิดของนักเรียนหมายถึงอะไร
– การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีผลดีเสมอไปหรือไม่
เพราะเหตุใด
2. ครูเปิดโอกาสให้นักเรียนตอบคำถามและแสดงความคิดเห็น เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การจัดการ
เรียนรู้ เรื่อง การพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ขั้นสอน
จัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้ ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้
1. ขั้นสร้างความสนใจ
ครูชักนำนักเรียนให้เห็นว่า สามารถรณรงค์ให้สมาชิกในชุมชนได้เห็นความสำคัญของการ
เสริมสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต โดยการจัดทำโครงการดังต่อไปนี้
2. ขั้นสำรวจและค้นหา
1) แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มเท่า ๆ กัน ให้แต่ละกลุ่มศึกษาใบงานที่ 17 หรือกิจกรรมที่ 17 เรื่อง การเสริมสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและคุณภาพชีวิตที่ดี ในหนังสือเรียน
2) นักเรียนแต่ละกลุ่มปรึกษาหารือกันเพื่อเลือกทำโครงการที่มีส่วนในการรณรงค์และแก้ไข
ปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่นักเรียนอาศัยอยู่ เมื่อเลือกโครงการได้แล้วแจ้งให้ครูได้ทราบ
3) นักเรียนแต่ละกลุ่มระดมความคิด ศึกษาค้นคว้า อภิปราย และช่วยกันคิดวางแผนจัด
ทำโครงการ จากนั้นเขียนแผนหรือเค้าโครงของโครงการตามหัวข้อที่กำหนดให้ในหนังสือปฏิบัติการ โดย
ครูจะต้องดูแลและให้คำปรึกษากับนักเรียนอย่างใกล้ชิด
4) ลงมือปฏิบัติตามแผนที่กำหนดไว้ในเค้าโครงของโครงการ พร้อมทั้งบันทึกผลการปฏิบัติ
ประเมินผลการปฏิบัติ และสรุปผลของโครงการ
3. ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป
1) นำผลการดำเนินโครงการของแต่ละกลุ่มมาอภิปรายร่วมกันที่ชั้นเรียน โดยในการอภิปรายนั้นนอกจากหัวข้อที่กำหนดในโครงการแล้ว ครูควรจะซักถามถึงปัญหาและอุปสรรคในระหว่างลงมือปฏิบัติตามแผนโครงการ และนักเรียนได้แก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นนั้นอย่างไร
2) ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปผลการปฏิบัติโครงการ ซึ่งควรจะได้ข้อสรุป ดังนี้
– การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นจะต้องเป็นการพัฒนาที่มีการคำนึงถึงความเสียหายของสิ่งแวดล้อม มีการป้องกันปัญหาที่เกิดแก่สิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม เพราะถึงแม้จะมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มากเพียงใด แต่สิ่งแวดล้อมกลับเสื่อมโทรม ประชาชนก็ไม่สามารถที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ดังนั้นประชาชนทุกคนจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันรักษาสิ่งแวดล้อม
– แนวทางปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนมีดังนี้
(1) การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
(2) การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
(3) การหลีกเลี่ยงความล้มเหลวของกลไกรัฐที่เกี่ยวข้อง
(4) การรักษาทางเลือกสำหรับอนาคต
(5) หยุดการเจริญเติบโตของประชากร
(6) การกระจายความมั่นคงให้แก่กลุ่มที่ยากจน
(7) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติ
3) ครูอธิบาย เรื่อง การพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืนใน
หนังสือเรียนแล้วให้นักเรียนตอบคำถามท้ายกิจกรรม

4. ขั้นขยายความรู้
ครูยกตัวอย่างการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมในลักษณะโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการคัดแยก
ขยะก่อนทิ้ง และโครงการคลองสวยน้ำใส เป็นต้น
5. ขั้นประเมิน
1) ครูให้นักเรียนแต่ละคนพิจารณาว่า จากหัวข้อที่เรียนมาและการปฏิบัติกิจกรรม มีจุดใด
บ้างที่ยังไม่เข้าใจหรือยังมีข้อสงสัย ถ้ามีครูช่วยอธิบายเพิ่มเติมให้นักเรียนเข้าใจ
2) นักเรียนร่วมกันประเมินการปฏิบัติกิจกรรมกลุ่มว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคใด และได้มีการ
แก้ไขอย่างไรบ้าง
3) ครูและนักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับจากการปฏิบัติกิจกรรม
4) ครูทดสอบความเข้าใจของนักเรียนโดยการให้ตอบคำถาม เช่น
– การพัฒนากับการพัฒนาที่ยั่งยืนต่างกันในเรื่องใด
– แนวทางปฏิบัติที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนมีอะไรบ้าง
– ขยะชนิดใดบ้างที่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก (reuse)
– นักเรียนมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร
ขั้นสรุป
ครูและนักเรียนร่วมกันสรุป เรื่อง การพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จากการปฏิบัติโครงการ
และที่ได้เรียนรู้

ครูตรวจสอบความรู้ ความเข้าใจ และพัฒนาการของนักเรียน โดยให้ทำแบบทดสอบหลังเรียน เมื่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เสร็จสิ้น

กระบวนการวัดและประเมินผล
1. วิธีการวัด
- การทดสอบด้วยแบบทดสอบก่อนและหลังเรียน
- ปฏิบัติกิจกรรมสืบค้นข้อมูล (กระบวนการกลุ่ม)
- อภิปรายกลุ่มย่อยและนำเสนอผลงาน
- ตรวจผลงาน
2. เครื่องมือวัด
- แบบทดสอบก่อนและหลังเรียน
- แบบบันทึกผลจากการสังเกตการปฏิบัติงานกลุ่ม (แบบสังเกต 1)
- แบบบันทึกผลจากการสังเกตด้านทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ (แบบสังเกต 2)
- แบบบันทึกผลจากการประเมินเจตคติทางวิทยาศาสตร์ (แบบประเมิน 1)
- แบบประเมินรายงานการค้นคว้า (แบบประเมิน 3)
- แบบประเมินโครงงาน (แบบประเมิน 4)
กิจกรรมเสริมการเรียนรู้
1. นักเรียนศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เรื่อง ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระดับประเทศจากรายงานการปฏิบัติการของหน่วยงานต่าง ๆ งานวิจัยของนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง เว็บไซต์ของหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเอกชนต่าง ๆ เช่น กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิพลังงานและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น แล้วจัดทำรายงานส่งครู
2. ดูวีดิทัศน์เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากการเพิ่มประชากร
3. ครูยกตัวอย่างการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมในลักษณะโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง โครงการคลองสวยน้ำใส เป็นต้น
4. นักเรียนเลือกทำโครงงานต่อไปนี้ (เลือก 1 ข้อ)
1) โครงงานสำรวจข้อมูล เรื่อง อัตราการเพิ่มของประชากรในชุมชน
2) โครงงานศึกษาค้นคว้า เรื่อง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติในชุมชน
3) โครงงานศึกษาค้นคว้า เรื่อง การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทย
สื่อ/แหล่งการเรียนรู้
1. วีดิทัศน์เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดจากการเพิ่มประชากร
2. แบบทดสอบก่อนและหลังเรียน
3. สื่อ สิ่งพิมพ์ และเว็บไซต์ต่าง ๆ ทางอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้อง
4. อุปกรณ์ที่ใช้ในการศึกษาแต่ละกิจกรรม
5. หนังสือเรียนสาระการเรียนรู้พื้นฐาน วิทยาศาสตร์ เล่ม 5 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 บริษัท
สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช จำกัด
6. หนังสือปฏิบัติการสาระการเรียนรู้พื้นฐาน วิทยาศาสตร์ เล่ม 5 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 บริษัทสำนักพิมพ์วัฒนาพานิช จำกัด
7. ห้องสมุด
8. แบบสังเกต 1-2
9. แบบประเมิน 1, 3 และ 4
บันทึกผลการจัดการเรียนรู้
1. ความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้
แนวทางการพัฒนา
2. ปัญหา/อุปสรรคในการจัดการเรียนรู้
แนวทางแก้ไข
3. สิ่งที่ไม่ได้ปฏิบัติตามแผน
เหตุผล
4. การปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้

แบบทดสอบหน่วยการเรียนรู้ที่ 2 ชีวิตและสิ่งแวดล้อม
ตอนที่ 2 ประชากรและทรัพยากรธรรมชาติ
คำชี้แจง ให้นักเรียนเลือกคำตอบที่ถูกที่สุดเพียงคำตอบเดียว
1. ผลกระทบอันดับแรก จากการเพิ่มของประชากรมนุษย์อย่างรวดเร็ว คือ
ก ปัญหาทางสังคม
ข ปัญหาด้านการศึกษา
ค ปัญหาด้านการว่างงาน
ง ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ
2. มนุษย์ควรใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไรจึงจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
ก ใช้ตามความต้องการ
ข ใช้อย่างระมัดระวังที่สุด
ค ใช้เฉพาะทรัพยากรหมุนเวียน
ง นำทรัพยากรมาพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการดำรงชีวิต
3. ป่าไม้และสัตว์ป่าจัดเป็นทรัพยากรประเภทใด
ก ทรัพยากรหมุนเวียน
ข ทรัพยากรทดแทนได้
ค ทรัพยากรที่ใช้ไม่หมดสิ้น
ง ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปและทดแทนไม่ได้
4. ข้อใดไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหามลภาวะของดิน
ก การตัดไม้ทำลายป่า
ข การไถพรวนดินไม่ถูกวิธี
ค การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช
ง การปลูกพืชหมุนเวียนจำพวกพืชตระกูลถั่ว
5. แก๊สในข้อใดเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก
ก คาร์บอนไดออกไซด์
ข คาร์บอนมอนอกไซด์
ค ซัลเฟอร์ไดออกไซด์
ง ไนโตรเจนไดออกไซด์